วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551

รู้จัก"สารเมลามีน"กันรึยัง



ถึงคราวที่ทั่วโลกต้องตื่นตัวอีกครั้ง เมื่อนมผงมรณะที่มีสารเมลามีนปนเปื้อนได้คร่าชีวิตทารกชาวจีนไป 4 คน และเด็กอีกครึ่งแสนต้องเผชิญกับโรคนิ่วในไต เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมผงซึ่งนำเข้าจากประเทศจีน ถูกสั่งเก็บจากท้องตลาดมาตรวจสอบอย่างเร่งด่วน



หลายคนสงสัยว่า สารพิษชนิดนี้คืออะไร ทำไมถึงส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตได้ วันนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักเจ้าสารอันตรายนี้กันค่ะ

"เมลามีน" ถึงเวลาที่ต้องรู้จัก

จะว่าไปแล้ว เราคงจะเคยได้ยินชื่อ "เมลามีน (Melamine)" มาบ้างแล้ว เช่น ชามเมลามีน หรือ จานเมลามีน นั่นก็เพราะเจ้าสารเมลามีนนี้มีคุณสมบัติทนความร้อน จึงนิยมใช้ทำผลิตภัณฑ์พลาสติก ไม่ว่าจะเป็นภาชนะพลาสติก ถุงพลาสติก น้ำยาดับเพลิง น้ำยาทำความสะอาด กาว หมึกสีเหลือง รวมถึงพบในยาฆ่าแมลงด้วย

สารเมลามีนนี้จัดเป็นสารอินทรีย์ มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ หรือที่เรารู้จักกันว่า ฟอร์มาลีน เป็นส่วนประกอบมีไนโตรเจนสูงถึง 66% เป็นผงสีขาว ลักษณะคล้ายนมผงจนแยกไม่ออก เมื่อนำไปละลายน้ำ หรือผสมในนมจะตรวจพบปริมาณไนโตรเจนสูง ซึ่งการจะตรวจว่าน้ำนมนั้นมีโปรตีนสูงหรือไม่ จะวัดจากค่าของไนโตรเจน ดังนั้นถ้าผสมสารเมลามีนซึ่งมีไนโตรเจนสูงเข้าไปในน้ำนม จะถูกทำให้เข้าใจว่า น้ำนมมีโปรตีนสูง ซึ่งไม่เป็นความจริง นี่จึงเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการชาวจีนที่เห็นแก่ตัว และตั้งใจนำสารเมลามีนมาผสมกับนมผง เพื่อให้นมมีความเข้มข้นขึ้น เป็นการเพิ่มปริมาณโปรตีนให้ได้ตามที่มาตรฐานกำหนด

ย้อนเหตุการณ์สารเมลามีนปนเปื้อนในอาหาร

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตรวจพบสารเมลามีนปนเปื้อนมาในอาหารที่นำเข้าจากจีน เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน สหรัฐอเมริกาได้สั่งเก็บอาหารสุนัข และแมวที่ทำจากแป้งสาลีซึ่งนำเข้าจากจีนเช่นกัน เนื่องจากตรวจพบสารเมลามีนในอาหารสัตว์เหล่านั้น โดยสารเมลามีนนี้มีคุณสมบัติเร่งการเจริญเติบโต เพิ่มปริมาณโปรตีน จึงทำให้พ่อค้าหัวใสเห็นช่องทางที่จะทำกำไร รวมทั้งผู้เลี้ยงสัตว์เมื่อเห็นราคาถูกกว่าจึงไม่รีรอที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้

ในครั้งนั้นมีอาหารสัตว์กว่า 100 ชนิดถูกเรียกคืน และมีสัตว์เลี้ยงจำนวนมากเจ็บป่วยล้มตายจากภาวะตับ และไตล้มเหลว กระทรวงเกษตรฯ ของสหรัฐอเมริกาจึงประกาศห้ามเตือนไม่ให้มีการนำสารเมลามีนไปผสมในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคได้รับสารเมลามีนเข้าไปในร่างกาย





การส่งออกของสารเมลามีน

ในประเทศจีนนั้น มีการผลิตเมลามีนจำนวนมาก และออกวางขายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะได้รับการรับรองมาตรฐาน ซึ่งสารเมลามีนนี้จะใช้ในกระบวนการผลิตภาชนะ อาหารสัตว์ และนอกจากจีนจะขายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปขายยัง 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในรูปของเศษเมลามีนที่เหลือจากโรงงานพลาสติก ซึ่งมีราคาถูก โดยผู้ขายจากจีนจะใช้ชื่อว่า "ไบโอโปรตีน" หรือโปรตีนเทียม แทนชื่อเมลามีน ให้ผู้เลี้ยงสัตว์นำไปผสมในอาหารสัตว์ เพราะมีราคาถูกกว่าโปรตีนอื่นๆ ที่เป็นพวกธัญพืชหรือเนื้อสัตว์เกือบ 5 เท่า จึงลดต้นทุนการผลิตได้ แต่ในประเทศไทยเองยังตรวจไม่พบว่ามีสัตว์เสียชีวิตจากสารอันตรายนี้

อาหารที่เสี่ยงปนเปื้อนสารเมลามีน

สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ มีสารเมลามีนปนเปื้อนมาในนมผง ดังนั้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของนมผงที่นำเข้าจาก 22 บริษัทของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นขนม ลูกอม นม คุ้กกี้ ไอศกรีม โยเกิร์ต ฯลฯ ก็เข้าข่ายเสี่ยงไปด้วย ในประเทศไทยเองสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้สั่งงดนำเข้า และขอร้องให้ร้านค้าต่างๆ งดจำหน่ายขนมที่มีแหล่งผลิตจากจีนแล้ว โดยสินค้าที่ต้องนำไปตรวจสอบก่อน ได้แก่

  • ไอศกรีมวอลล์ มอ
  • ขนมปังกรอบ และข้าวโอ๊ตรสกาแฟ ตราเหมาฮวด หรือคอฟฟี่ โอทมีล แคร็กเกอร์

  • เวเฟอร์สติ๊กไวท์ช็อคโกแลต เวเฟอร์เคลือบช็อคโกแลตขาว เครื่องหมายการค้าโอรีโอ

  • ช็อคโกแลตนมตราโดฟ

  • ถั่วลิสงคาราเมล และนูกัตเคลือบช็อคโกแลตนม ตราสนิกเกอร์ส

  • เมนทอส โยเกิร์ต มิกซ์ หรือลูกอมโยเกิร์ตกลิ่นผลไม้รวม

  • ลูกอมรสนม ยี่ห้อกระต่ายขาว

  • คุ้กกี้ช็อกโกแล็ตรูปการ์ตูนหมีโคอาล่า

  • ช็อคโกแลตนมเคลือบน้ำตาลสีต่างๆ ตราเอ็มแอนด์เอ็ม

พิษของสารเมลามีน

ฤทธิ์ของสารเมลามีนนั้น ไม่จำเป็นต้องรับประทานเข้าไปโดยตรง เพียงแค่สูดดมเข้าไป หรือผิวหนังสัมผัสก็ทำให้เกิดการระคายเคือง จนส่งผลให้ผิวหนังอักเสบได้แล้ว ฉะนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า ถ้ารับประทานเข้าไป จะเกิดอะไรขึ้น เพราะร่างกายเราไม่สามารถย่อยสารเมลามีนได้ ไตจึงไม่สามารถขับสารพิษออกมาทางปัสสาวะ


ดังนั้นเมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปสะสม จนกลายเป็นนิ่วในท่อปัสสาวะ และไต ก่อให้เกิดมะเร็งที่ท่อปัสสาวะ ทำลายระบบสืบพันธุ์ และทำให้ไตวายได้อย่างเฉียบพลัน เช่นเดียวกับเด็กทารกชาวจีนทั้ง 4 คนที่เสียชีวิต เพราะรักษาไม่ทันการณ์ ขณะที่ยังมีเด็กอีกกว่า 53,000 คน ทั้งชาวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า กำลังป่วยเป็นนิ่วในไตอันเป็นผลพวงมาจากสารเมลามีนนี้


ในส่วนของภาชนะที่ทำจากเมลามีนก็ต้องระวังการใช้เช่นกัน แม้ผู้ผลิตจะบอกว่า สามารถทนความร้อนได้ถึง 100 องศา แต่ก็ควรใช้งานที่อุณหภูมิไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส เนื่องจากหากใช้งานกับความร้อนสูง เช่น น้ำเดือดๆ อาหารที่ทอดใหม่ๆ ก็อาจทำให้สารฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งแพร่ออกมาได้ เช่นนั้นแล้ว หากจะใช้ภาชนะปรุงอาหาร หรืออุ่นไมโครเวฟ ควรใช้ผลิตภัณฑ์จากเซรามิกจะดีกว่า