วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553

ลูกปิดเทอมใหญ่…ใช้เวลาอย่างไรให้คุ้มค่า


ปิดเทอมใหญ่แล้ว พ่อแม่วางแผนการใช้เวลาให้กับลูกในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 3 เดือนนี้อย่างไร หากพ่อแม่ยังไม่มีแผนการใดๆ โดยคิดว่าปิดเทอมนี้ให้ลูกอยู่บ้านพักผ่อนบ้าง เนื่องจากเรียนหนักมามากพอแล้วตลอดปีที่ผ่านมา นั่นไม่ใช่ความคิดที่ดีที่สุดอย่างแน่นอน เพราะการไม่ได้วางแผนในการใช้เวลาอย่างดีเพียงพอนั้นจะนำมาซึ่งการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาชีวิต ลูกอาจใช้เวลาเรื่อยเปื่อยไปวันๆ โดยไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ เช่น อยู่บ้านใช้เวลาไปกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ มีทีวีเป็นเพื่อน กินๆ นอนๆ อยู่กับบ้าน ฯลฯ ทั้งๆ ที่ในวัยเด็กเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็นและมีพลังในการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด การส่งเสริมในทางที่ถูกต้องจะนำมาซึ่งการพัฒนาการของเด็กอย่างเต็มศักยภาพ


การใช้เวลาไปในทางที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ที่ต้องทำงานจึงไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา ลูกอาจรู้สึกเบื่อหน่าย เหงา ไม่มีอะไรทำ จึงอาจไปเที่ยวเตร่ คบเพื่อนไม่ดี ถูกชักจูงไปในทางที่เสียหายได้โดยง่าย เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน มั่วสุมในร้านเกม เป็นต้น


ดังนั้นยามใดที่โรงเรียนปิดเทอม พ่อแม่จึงต้องรับบทบาทเพิ่มขึ้นในการดูแลลูกอย่างใกล้ชิด โดยการสวมบทบาทเป็น “ผู้จัดการส่วนตัว” ในการจัดสรรเวลาให้กับลูกอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสวมบทบาทแทนโรงเรียนในการจัดกิจกรรม หลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆ ให้กับลูกได้เรียนรู้และพัฒนาอย่างเต็มที่ตามแต่ละช่วงวัย โดยเริ่มจาก

สำรวจลูกมีความชอบหรือถนัดในด้านใดเป็นพิเศษ
พ่อแม่ควรรู้จักลูกของตนว่ามีความชื่นชอบหรือมีความถนัดในทักษะด้านใดเป็นพิเศษ อาทิ ความถนัดในด้านกีฬา ดนตรี เต้นรำ คอมพิวเตอร์ ภาษา ฯลฯ เพื่อส่งเสริมความสามารถของลูกในด้านที่ถนัดให้เด่นชัดและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านการใช้เวลาฝึกฝนในช่วงปิดเทอม

โดยหากยังไม่แน่ใจว่าลูกมีความถนัดหรือความสามารถพิเศษในด้านใด พ่อแม่สามารถพูดคุยแนะนำในการฝึกฝนพัฒนาทักษะต่างๆ ผ่านทางหนังสือ ทีวี หรือพาไปดูของจริง เช่น พาลูกไปดูการแข่งขันกีฬา การฝึกฝนกีฬาในโรงยิมฯ พาลูกไปดูการซ้อมดนตรี เป็นต้น เพื่อให้ลูกได้ค้นพบสิ่งที่ตนเองถนัดและชื่นชอบผ่านประสบการณ์จริง

อย่างไรก็ตาม ในเด็กแต่ละช่วงวัยหรือแม้แต่ในเด็กแต่ละคนเองนั้นย่อมมีทักษะความสามารถที่แตกต่างกันไป เด็กที่มีทักษะในการเคลื่อนไหวร่างกายที่ดีย่อมส่งผลในการเล่นเล่นกีฬาประเภทต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่เด็กบางคนอาจร้องเพลง เล่นดนตรี หรือเขียนภาพได้ดี ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่ควรบังคับให้ลูกเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่ยังไม่รู้จักลูกของตนอย่างแท้จริง

สำรวจลูกมีจุดอ่อนและข้อบกพร่องในด้านใดที่ต้องรับการแก้ไข
พ่อแม่ควรสำรวจลูกของตนด้วยว่ามีจุดอ่อนในเรื่องใดที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพื่อที่จะใช้เวลาในช่วงปิดเทอมนี้เป็นโอกาสสำคัญในการแก้ไขหรืออุดจุดอ่อนดังกล่าวของลูกให้กลายเป็นจุดแข็ง อาทิ

-จุดอ่อนในเรื่องความมีระเบียบวินัย เช่น ลูกชอบนอนตื่นสาย เก็บข้าวของไม่เป็นระเบียบ ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง ฯลฯ
-จุดอ่อนด้านบุคลิกภาพ เช่น กิริยามารยาทในการเข้าสังคม การรับประทานอาหาร การเข้าหาผู้ใหญ่
-จุดอ่อนในเรื่องความไม่มั่นใจในตนเอง อาทิ ความกลัวในการยืนหรือพูดต่อหน้าคนหมู่มาก กลัวไม่กล้าที่จะอาสาตัวเป็นผู้นำ
-จุดอ่อนด้านลักษณะนิสัย อาทิ เอาแต่ใจตนเอง ไม่คำนึงถึงผู้อื่น เห็นแก่ตัว
-จุดอ่อนด้านการเรียน อาทิ ลูกมีปัญหาด้านการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สอบทีไรได้คะแนนคาบเส้น หรือต้องสอบซ่อมในทุกครั้ง

สำรวจหากิจกรรมต่างๆ ไว้เป็นฐานข้อมูลในการเลือก
ปัจจุบันมีทางเลือกที่หลากหลายสำหรับพ่อแม่ในการเลือกสรรกิจกรรมต่างๆ ให้กับลูกในช่วงปิดเทอม ไม่ว่าจะเป็นการจัดค่ายสำหรับเด็กในช่วงปิดเทอม โดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หรือโรงเรียนของลูกเป็นผู้จัด อาทิ ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายภาษาอังกฤษ หรือหลักสูตรการเรียนพิเศษกวดวิชาเพื่อเพิ่มเกรดหรือติวเข้าโรงเรียนดัง รวมทั้งคอร์สเรียนพิเศษในวิชาอื่นๆ เช่น ดนตรี กีฬา คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

พ่อแม่ควรสำรวจกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้พร้อมบันทึกเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาเลือกให้ลูก โดยการเสาะหาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนลูกปิดเทอม ทั้งจากการไปดูสถานที่จริง โฆษณาในวารสาร แผ่นพับ ทีวี อินเทอร์เน็ต หรือสอบถามจากทางโรงเรียน ครูอาจารย์ เพื่อนผู้ปกครอง รวมทั้งญาติพี่น้องที่เคยส่งบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวโดยปัจจัยสำคัญที่พ่อแม่ควรนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกกิจกรรมให้กับลูกนั้น ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของหน่วยงานที่จัด ครูผู้สอน ความปลอดภัยในสถานที่ อุปกรณ์ และการจัดกิจกรรม ประโยชน์ที่ลูกได้รับ ความคุ้มค่าคุ้มราคากับเงินที่เสียไป ความสะดวกในการเดินทาง เป็นต้น ทั้งนี้การเลือกสรรกิจกรรมให้ลูกนั้นควรเป็นไปด้วยความสมัครใจและให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยเช่นกัน

พ่อแม่ไม่ควรเลือกกิจกรรมให้กับลูกโดยอิงไปตามแฟชั่นค่านิยมในสังคมหรือตามกระแสภาพยนตร์ ที่กำลังมาแรง โดยไม่คำนึงถึงความชอบของลูกหรือประโยชน์ความคุ้มค่าที่ได้รับ หรือพยายามกดดันลูกอย่างหนักให้เรียนพิเศษแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในการพิจารณาเลือกกิจกรรมหรือหลักสูตรวิชาต่างๆ ให้ลูกได้เรียนในช่วงปิดเทอมนั้น พ่อแม่ควรมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าต้องการให้ลูกได้รับประโยชน์ในด้านใด ตัวอย่างเช่น

-ประโยชน์ในการพัฒนาทักษะที่มีความจำเป็นในโลกอนาคต เช่น การเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หลักสูตรคอมพิวเตอร์ ที่มีความสำคัญในการศึกษาและประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต
-ประโยชน์ในการเสริมพื้นฐานในการเรียน เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในวิชาที่เป็นจุดแข็ง ช่วยเหลือและแก้ไขในวิชาที่เป็นจุดอ่อนของลูก ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น
-ประโยชน์ในการเสริมสร้างลักษณะชีวิต โดยพ่อแม่อาจส่งลูกไปเข้าค่ายต่างๆ ที่มีบริบทของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การทำงานเป็นทีม เพื่อเสริมสร้างลักษณะชีวิตที่ดีงาม อาทิ การมีระเบียบวินัย ความเสียสละ การมีจิตสาธารณะ รวมทั้งฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ในการเข้าสังคม เช่น การเป็นผู้นำ การพูดต่อหน้าชุมชน เป็นต้น
-ประโยชน์ในด้านสุขภาพร่างกาย โดยการฝึกฝนทักษะกีฬาประเภทต่างๆ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เช่น ว่ายน้ำ ฟุตบอล มวยไทย เทควันโด ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพพลานามัยแล้ว กีฬาบางประเภทยังเป็นการฝึกฝนทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ การป้องกันตัว ฝึกฝนการทำงานร่วมกันเป็นทีม การรู้แพ้รู้ชนะ ความมีน้ำใจนักกีฬา ด้วยเช่นกัน


สมดุลในการใช้เวลาระยะเวลาในช่วงปิดเทอมที่จำกัด

พ่อแม่ไม่ควรยัดเยียดกิจกรรมต่างๆ ให้ลูกมากเกินไป เช่น ส่งให้ลูกไปเรียนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์อย่างเดียวตั้งแต่เช้าถึงค่ำ จัดโปรแกรมอัดแน่นให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษตอนเช้า เรียนดนตรีตอนบ่าย เรียนว่ายน้ำตอนเย็น เรียนเสริมคณิตศาสตร์ในตอนค่ำ ฯลฯ อาจส่งผลให้ลูกเกิดความเครียด เหนื่อยล้า เกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากเข้าเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในที่สุด

พ่อแม่จึงควรจัดตารางเวลาในช่วงปิดเทอมให้กับลูกอย่างสมจริงมีความครบถ้วนสมดุลในทุกมิติของชีวิต ทั้งด้านสุขภาพร่างกาย การพักผ่อนหย่อนใจ การเดินทางท่องเที่ยว การใช้เวลากับเพื่อนฝูง ครอบครัว ญาติพี่น้อง ฯลฯ โดยการให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการทำตารางเวลาร่วมกัน ว่าตลอดช่วงระยะเวลาปิดเทอมนี้ลูกจะทำอะไรบ้าง คล้ายๆ กับการจัดตารางสอนในโรงเรียนของลูก เพื่อให้ลูกใช้เวลาในช่วงปิดเทอมใหญ่นี้อย่างมีเป้าหมายรู้ว่าในแต่ละวันนั้นเขาต้องทำอะไร โดยพ่อแม่ควรติดตามประเมินผลการใช้เวลาของลูกอย่างใกล้ชิด อาจด้วยการสอบถามหรือให้ลูกจดบันทึกการใช้เวลาให้พ่อแม่ดูในแต่ละวันว่าลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ในเรื่องใด อะไรที่เป็นปัญหาสำหรับลูก และลูกมีแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นอย่างไร โดยอาจเป็นในรูปแบบของการจดไดอารี่และมีการให้รางวัลแก่ลูกหากสามารถจดบันทึกได้อย่างครบทุกวันตลอดในช่วงปิดเทอม

ทั้งนี้ พ่อแม่ไม่ควรลืมที่จะเตรียมพร้อมในเรื่องของ “ค่าใช้จ่าย” ด้วยเช่นกัน โดยการวางแผนล่วงหน้าก่อนที่ลูกจะปิดเทอม เพราะหากไม่เตรียมการล่วงหน้า อาจนำมาซึ่งความฉุกละหุก เนื่องจากไม่สามารถจัดหาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาได้อย่างเพียงพอ

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ค่านิยมวันวาเลนไทน์ ค่า(ฆ่า)นิยม วันเสียตัวแห่งชาติ


ค่านิยมวันวาเลนไทน์ ฆ่านิยมวันเสียตัวแห่งชาติ

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกับการออกมาให้ข่าวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐอย่าง กระทรวงวัฒนธรรม หรือ แม้กระทั่งสื่อสารมวลชนทุก ๆ แขนง พิพากษาให้ "วันวาเลนไทน์" ว่าเป็น "วันเสียตัวแห่งชาติ" ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจกับเด็กเป็นวงกว้างนั้น

นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นที่ผู้ใหญ่มักให้ภาพวันวาเลนไทน์กับวัยรุ่นเป็นภาพลบมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เขากล่าวไม่เห็นด้วยกับการที่ทุก ๆ ปีนั้นจะมีผู้ใหญ่ออกมาอิงกระแสตราหน้าหาว่าวัยรุ่นใช้วันวันวาเลนไทน์เป็น "พลีกาย" เป็น “วันเสียตัวแห่งชาติ"

ข่าวป้ายสีเด็กลงฟรี ข่าวเด็กดีๆ ต้องเสียตังค์ลง

"ทุก ๆ ปีผู้ใหญ่และสื่อ ให้ความสำคัญกับวันนี้มากมาย จนสถานประกอบการต่างๆ จับกระแสได้โดยเริ่มคลอดโปรโมชั่นแบบยั่วยวนให้กลุ่มเด็กเข้าไปใช้บริการเหล่านั้น ซึ่งแทนที่ผู้ใหญ่ สื่อ กระทรวงวัฒนธรรมจะนำเสนอหรือออกมาพูดในเรื่องดีๆ ของเด็กในวันนี้ ซึ่งมีเต็มหมด เช่น เด็กออกมาทำอะไรสร้างสรรค์ ออกมารณรงค์เรื่องดี ๆ และขยายความหมายของวันนี้มากกว่าวันแห่งความรักเชิงชู้สาวที่เน้นความรักแบบต้องมีเซ็กส์กัน แต่ผู้ใหญ่และสื่อเลือกจับคู่เอาเรื่องเด็กกับสิ่งไม่ดีเสนอ ๆ "

พอเกิดด้านลบมากๆ ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร บอกว่า จริง ๆ วัยรุ่นที่ทำตัวไม่ดีมีแค่ 10 % พอออกข่าวไปแล้วก็บอกว่า "วัยโจ๋-นักศึกษา…" ซึ่งถ้าพูดแบบนี้ก็หมายความว่าเหมารวมหมด เด็กส่วนใหญ่ที่ทำตัวดีก็โดนด่า ซึ่งเป็นการพูดความจริงแค่นิดเดียว ผู้ใหญ่ใช้ไม่ได้ซึ่งคาดว่า วาเลนไทน์ปีนี้เด็กก็จะโดนกล่าวหาว่าทำตัวไม่ดีเหมือนเคย

"เด็กดี ๆ หลายคนรู้สึกว่าเด็ก ๆ ถูกป้ายสีนะ แต่อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่า "ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์" แทนที่เราจะมาลงข่าวว่าเด็ก เราไม่ดียังไงๆ ทำไมผู้ใหญ่ไม่รณรงค์ว่าวาเลนไทน์เป็นวันสุภาพบุรุษ วาเลนไทน์เป็นวันมีคนมาช่วยกันในสังคม มาช่วยกันอนุรักษ์สังคม ไม่ต้องไปจงใจในเรื่องของเซ็กส์แอนตี้อยางเดียวแต่ว่า เป็นเรื่องของเรื่องทั่วไป เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเป็นวันแห่งความรัก แต่เรารักอย่างอื่นได้ รักสังคมได้ รักพ่อแม่ก็ได้นะ อันนี้ผู้ใหญ่ควรจะรู้ไว้" ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร กล่าว

มองมุมกลับ กับ วันเสียตัวแห่งชาติ

นอกเหนือความหมายวันวาเลนไทน์ หรือวันเสียตัวแล้ว ถามว่าปัจจุบันเด็กเสียคนเองหรือว่าโดนทุนนิยม โดนกระแสสังคมทำให้เสียคนประธานสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร บอกว่าน่าจะมาจากปัจจัยรวม ๆ ทั้งหมด

"คำถามผมก็คือ ผู้ใหญ่ สื่อ และ ตำรวจ ทำไมไม่เปลี่ยนอีกมุมหนึ่งมาช่วยเด็กจัดกิจกรรมรักความสร้างสรรค์ แต่นี่กลายเป็นว่าวันวาเลนไทน์วัยรุ่นกลายเป็นอาชญากรรมไป ถามจับมาทำอะไรเขาได้ แถมไม่ได้ทำให้พฤติกรรมของเด็ก ๆ เปลี่ยนแปลงเลย"

"วิธีแก้ไขได้นอกจากผู้ใหญ่จะหยุดตอกย้ำเอาเรื่องของคนกลุ่มเล็กมาพูดแล้ว ครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญในการปลูกฝังให้เรามีความยังยังช่างใจ ซึ่งวันวาเลนไทน์ไม่จำกัดอยูแค่ต้องอยู่กับแฟนเท่านั้น ความรักมันยังกินความหมายไปได้ ถึง พ่อ-แม่-ครู ซึ่งท่านเลี้ยงและสั่งสอนเรามาก็ควรจะตอบแทนท่านด้วยความรักและเอาใจใส่ดีกว่าไปทำตัวเหลวไหล"

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553